5 โรคร้ายแรงมีอะไรบ้าง ที่พบในคนไทยเป็นประจำ
โรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเรา ล้วนมีต้นเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง เช่น การชอบทานของมัน ของทอด ขนมหวาน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทานผักผลไม้ เป็นต้น บวกกับความเครียดที่คนทุกเพศทุกวัยต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ร่างกายของเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายกันได้ง่าย ๆ โดยไม่ทันตั้งตัววันนี้ AROUNDBKK จะมาแนะนำ 5 โรคยอดฮิตของคนไทย ซึ่งเป็นโรคที่มียอดผู้เสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ เพื่อให้คุณได้มีข้อมูล และหาแนวทางป้องกันหรือดูแลตัวเองได้ทันท่วงที แล้วโรคร้ายแรงมีอะไรบ้าง มีสาเหตุในการเกิดโรคอย่างไร ไปดูกัน
รวม 5 กลุ่มโรคร้ายแรงมีอะไรบ้างที่พบได้บ่อยๆ ในไทย
1. โรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้, มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ ถือเป็นโรคยอดฮิตของคนไทยที่มีคนเป็นมากที่สุดอันดับ 1 ถึง 5 ปีซ้อน และในแต่ละปีก็มีผู้เสียชีวิตสูงถึงปีละ 50,000 คน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย โดยมะเร็งที่พบมากที่สุดคือ มะเร็งตับ รองลงมาคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงของคนในปัจจุบัน
โดยในปัจจุบันมีการรักษาหลากหลายวิธีหาตรวจพบมะเร็งในระยะแรก ๆ ทั้งทางการแพทย์ด้วยวิธีฉายแสง การบำบัดการใช้ยาเฉพาะ การรักษาด้วยวิถีสมุนไพร หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพแบบชีวจิต แต่หากตรวจพบในระยะสุดท้ายก็ยังไม่มีตัวยาใดที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
2. โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ความดันพุ่งสูงถึง 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ในขณะที่ความดันของคนปกติจะประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น โดยโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง นอกจากนี้โรคความดันโลหิตถือภัยเงียบที่คุกคามชีวิตอย่างแท้จริง เพราะเป็นโรคที่ไม่ค่อยแสดงอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก
แต่ทั้งนี้ ก็มีอาการต่าง ๆ ที่สามารถบ่งบอกได้ว่า เรามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่ว่าจะเป็น อาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ใจสั่น เหนื่อยง่ายผิดปกติ ปวดศีรษะเฉียบพลัน มึนหัว และเวียนศีรษะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอาการเริ่มต้น แต่ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายร้ายแรง
3. โรคหลอดเลือดหัวใจ
อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนไทยที่มีคนเป็นไม่แพ้มะเร็ง ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากพฤติกรรมการทานอาหารที่มีไขมันสูงจนไขมันเข้าไปเกาะบริเวณผนังของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบและแคบลง และเมื่อร่างกายส่งเม็ดเลือดขาวมาเพื่อซ่อมแซม เม็ดเลือดนั้นกลับเข้าไปอุดตันทางเดินเลือด จนไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ซึ่งวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็คือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยควรจะเริ่มทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีไขมันต่ำ ทานผักและผลไม้เป็นประจำ นอกจากนี้ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว ก็ควรจะเข้าไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา และรับคำแนะนำในการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง
4. โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนทำให้การผลิตอินซูลินทำงานผิดปกติ และส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรรมพันธุ์ ภาวะโรคอ้วน การเลือกทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินไป โดยเบาหวานถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการในช่วงแรก และจะแสดงอาการเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาก ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน กระหายน้ำบ่อย ตาพร่ามัว มองไม่ชัด น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น นอกจากนี้โรคเบาหวานยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมามากมาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น
โดยผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจะต้องฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษาระดับน้ำตาล นอกจากนี้ยังจะต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ
5. โรคปอดเรื้อรัง
โรคปอดเรื้อรัง เกิดจากเซลล์ที่ทำหน้าที่กวาดสิ่งสกปรกโดนเมือกเคลือบ และนำพาเมือกเข้าสู่หลอดลมและถุงลมจนถูกทำลายไป ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง เกิดจากการสูบบุหรี่ โรคทางพันธุกรรม และการหายใจเอาฝุ่นละออง หรือละอองสารเคมีเข้าไปนาน ๆ จนเกิดการสะสม แน่นอนว่าในปัจจุบันที่ปัญหา PM 2.5 มีความรุนแรงเป็นอย่างมาก จึงทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคปอดเรื้อรังมีมากขึ้น
เมื่อได้ทราบแล้วว่า โรคร้ายแรงมีอะไรบ้าง รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงเหล่านี้ ก็อย่าลืมให้ความใส่ใจกับการดูแลตัวเอง และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดี นอกจากนี้ยังควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจเช็กว่าเป็นโรคร้ายแรงที่ไม่แสดงอาการต่าง ๆ หรือไม่ เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มที่จะรักษาให้หายขาดได้ หรือลดความรุนแรงของโรคไปได้มากพอสมควร