1. หน้าหลัก AroundBKK
  2. / บทความ
  3. / HEALTH & WELLNESS
  4. / ทำความเข้าใจอาการฟันผุ พร้อมวิธีดูแลรักษา

ทำความเข้าใจอาการฟันผุ พร้อมวิธีดูแลรักษา

Published on กันยายน 12, 2022
SHARE

อีกหนึ่งปัญหาช่องปากที่พบมากที่สุดและสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยก็คือ อาการฟันผุ นั่นก็เป็นเพราะว่าปัญหาดังกล่าวมักมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการดูแลทำความสะอาดที่ไม่ดีพอและการเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพฟันอย่างเช่นของหวาน ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาฟันผุและปัญหาช่องปากอื่น ๆ ที่อาจจะตามมา จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

อาการ ฟันผุ

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟันผุ

ฟันผุ ภาษาอังกฤษมักเรียกว่า Tooth Decay เป็นโรคฟันที่เกิดจากเนื้อของฟันถูกทำลายไป โดยเป็นการทำลายแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของฟันจนทำให้เกิดเป็นรูหรือโพรงที่ตัวฟัน หากไม่ได้รับการรักษาก็จะเกิดการลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้รู้สึกปวดจนต้องถอนฟันซี่ที่ผุออกไป ส่วนมากมักพบบริเวณที่เป็นหลุมร่องฟันลึก รวมไปถึงบริเวณซอกฟัน และคอฟันที่มีการสะสมคราบของจุลินทรีย์เอาไว้มาก มักพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อีกทั้งฟันผุยังถือเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากเชื้อโรค สามารถติดต่อกันได้ทางน้ำลายอีกด้วย โดยสัญญาณเตือนและสาเหตุที่เกิดฟันผุ มีดังนี้

สัญญาณเตือนอาการฟันผุ

อาการเสียวฟัน ฟันผุ
  • ฟันเริ่มเสียความเงางาม
  • มีจุดขาวขุ่นบริเวณฟันและเริ่มขยายใหญ่ขึ้น
  • พบรูหรือรอยผุที่ฟัน
  • มีอาการเสียวฟันมากขึ้นเมื่อดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีรสหวาน ร้อนจัด หรือเย็นจัด 
  • มีอาการปวดฟันผุ 
  • มีเศษอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยครั้งขึ้น
  • แคะหรือทำความสะอาดฟันได้ยากขึ้น

ฟันผุเกิดจากสาเหตุอะไร?

ฟันผุเกิดจากกระบวนการทำลายแร่ธาตุของโครงสร้างฟัน ซึ่งโดยปกติแล้วภายในช่องปากของเราจะมีกระบวนการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุระหว่างตัวฟันและแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำลายตลอดเวลา ทำให้สภาพภายในช่องปากนั้นเป็นกลาง แต่เมื่อมีการรับประทานอาหารเข้าไปก็จะมีแบคทีเรียภายในช่องปากที่เข้ามาย่อยเศษอาหารที่ตกค้างและสร้างกรดขึ้นมา โดยกรดที่สร้างขึ้นมานี้ก็สามารถทำลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของฟันได้ ทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุออกจากผิวฟัน ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลและทำความสะอาดที่เหมาะสม เนื้อฟันก็จะถูกทำลายและเกิดเป็นปัญหาฟันผุได้ในที่สุด

วิธีดูแลป้องกันฟันผุด้วยตัวเอง

ป้องกัน ฟันผุ ด้วยตัวเอง
  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังมื้ออาหาร ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ไม่น้อยกว่า 1,000 ppm
  • ใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดบริเวณซอกฟันเป็นประจำ เพราะเป็นจุดที่แปรงสีฟันอาจเข้าไปทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง 
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันฟันผุหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย 
  • ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือน 
  • ใช้ฟลูออไรด์เสริมเพื่อปกป้องฟัน
  • ไม่รับประทานอาหารจุกจิกระหว่างวัน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือของว่างที่มีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก

วิธีรักษาฟันผุโดยทันตแพทย์

รักษา ฟันผุ โดยทันตแพทย์

ทันตแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่กำลังเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีวิธีรักษาดังนี้   

  1. ใช้ฟลูออไรด์ 

เป็นการใช้ฟลูออไรด์เฉพาะโดยทันตแพทย์ ใช้ในกรณีที่เกิดฟันผุระยะแรกเพื่อป้องกันการลุกลามและทำให้เนื้อฟันกลับสู่สภาวะปกติได้ 

  1. อุดฟัน

ใช้รักษาอาการฟันผุที่มองเห็นเป็นรูชัดเจน มีลักษณะอยู่ในส่วนเฉพาะเนื้อฟัน โดยจะทำการกรอเนื้อฟันส่วนนั้นออกแล้วใช้วัสดุอุดฟัน วัสดุที่ใช้มี 2 แบบคือ การอุดฟันด้วยวัสดุที่เป็นโลหะอะมัลกัมและการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน

  1. ครอบฟัน

ใช้ในกรณีที่เกิดฟันผุเป็นรูใหญ่จนไม่สามารถทำการรักษาได้ด้วยการอุดฟันตามปกติเพราะเกิดการสูญเสียเนื้อฟันไปค่อนข้างมาก โดยทันตแพทย์จะทำการรักษาด้วยการครอบฟัน เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ฟันซี่ดังกล่าวได้ตามปกติ 

  1. รักษารากฟัน

การรักษารากฟันจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟันจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันตามปกติ เมื่อทำการรักษารากฟันเสร็จสิ้น ทันตแพทย์จึงจะพิจารณาเพื่อทำการรักษาด้วยการอุดฟันหรือครอบฟัน

  1. ถอนฟัน

เมื่อฟันผุแล้วเกิดการอักเสบลุกลามไปยังฟันที่อยู่ข้างเคียง มีอาการบวมและอักเสบรอบ ๆ ตัวฟัน หรือฟันแตกหักจนไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้ ทันตแพทย์จะทำการถอนฟันซี่นั้นออก แล้วค่อยใส่ฟันปลอมเพื่อทดแทนตำแหน่งของฟันที่เดิม

การไม่ดูแลรักษาทำความสะอาดภายในช่องปาก หรือทำความสะอาดไม่ทั่วถึงจนเกิดการสะสมของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุ รวมไปถึงพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างเช่น การกินจุกจิกในระหว่างวัน การกินอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก การสูบบุหรี่ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรทำความสะอาดภายในช่องปากอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือน และถ้าหากมีสัญญาณเตือนก็ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามจนต้องสูญเสียฟันหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

Related Blog

แนะนำ 5 สปาและศูนย์ดูแลสุขภาพ บรรยากาศดี บริการเยี่ยม

HEALTH & WELLNESS

7 ร้านนวดหินร้อนในกรุงเทพ ฟื้นฟูร่างกายให้ผ่อนคลาย

HEALTH & WELLNESS

แจก 5 สูตรเมนู Plant-based Food ทำง่าย อร่อย ไม่มีเบื่อ

HEALTH & WELLNESS